คุณเจ้าของรู้หรือไม่ เราควรพาสุนัขของเราไปฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค วัคซีนมีความสำคัญอย่างไร ทำไมสุนัขต้องได้รับวัคซีน เรามารู้ไปพร้อมๆกันดีกว่าค่ะ

วัคซีน คือสารชนิดหนึ่งที่สร้างจากเชื้อโรคที่ไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ร่วมกับสารละลายวัคซีน ที่ฉีดเข้าไปร่างกายเพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคต่างๆที่ใช้ในการผลิตวัคซีนต่อโรคนั้นๆ โดยวัคซีนจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ วัคซีนเชื้อตาย เป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อโรคที่ตายแล้ว หรือมีสารของเชื้อโรคมาฉีดให้น้องสุนัข และอีกแบบคือวัคซีนเชื้อเป็น ทำจากเชื้อโรคที่อ่อนแอแล้ว เมื่อฉีดเข้าร่างกายน้องสุนัข ร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันกับโรคนั้นๆ เพราะเมื่อร่างกายน้องสุนัขได้สัมผัสเชื้อเหล่านั้นในสิ่งแวดล้อม เจ้าภูมิคุ้มกันที่สร้างมานี้ก็จะทำหน้าที่ป้องกันการก่อให้เกิดโรคหรือลดความรุนแรงของโรคได้ดีมากๆ โดยเฉพาะโรคส่วนใหญ่ที่มีในวัคซีน มักจะเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง ที่มักจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของน้องๆ ถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยค่ะ

แล้วเมื่อไหร่ที่เราควรเริ่มกระตุ้นวัคซีนในน้องสุนัข

น้องสุนัขแรกเกิดจนถึงช่วงอายุ 2 เดือนจะยังมีภูมิคุ้มกันที่ส่งผ่านจากแม่มาสู่ลูกสุนัข ไม่ว่าจะผ่านทางรกหรือทางนมน้ำเหลือง การจะฉีดวัคซีนในช่วงลูกสุนัขอายุน้อยกว่า 2 เดือนจึงยังไม่แนะนำ เพราะภูมิคุ้มกันจากแม่ในตัวลูกสุนัขจะทำลายวัคซีนที่ฉีดเข้าไปได้ ดังนั้น สัตวแพทย์จึงมักจะแนะนำให้เริ่มกระตุ้นวัคซีนในลูกสุนัขเมื่อน้องมีอายุ 2 เดือนขึ้นไป โดยวัคซีนหลักที่แนะนำทำในสุนัขจะมี 2 ตัวคือ

1. วัคซีนรวม ที่จะประกอบไปด้วย โรคไข้หัดสุนัข  (CDV) / โรคตับอักเสบของสุนัข ( CAV-2) / โรคหลอดลมอักเสบของสุนัข  ( parainfluenza) / โรคลำไส้อักเสบในสุนัข  (CPV-2)  / โรคเลปโตสไปโรซีสหรือโรคฉี่หนู ( leptospira) โดยวัคซีนรวมในปีแรกจะกระตุ้นทั้งหมด 3 เข็ม แต่ละเข็มห่างกัน 2-4 อาทิตย์ เมื่อกระตุ้นปีแรกครบหลังจากนั้นจะกระตุ้นรายปี ปีละ 1 ครั้งค่ะ

2. วัคซีนพิษสุนัขบ้า ในประเทศไทยยังเป็นประเทศที่พบโรคพิษสุนัขบ้าอยู่เรื่องๆ ดังนั้นควรกระตุ้นวัคซีนพิษสุนัขบ้าจะดีกว่านะคะ โดยวัคซีนพิษสุนัขบ้าจะเริ่มกระตุ้นเมื่อน้องอายุ 3 เดือนขึ้นไป โดยในปีแรกจะกระตุ้นทั้งหมด 2 เข็ม ห่างกัน 1-3 เดือน หลังจากนั้นกระตุ้นประจำปีปีละ 1 ครั้งตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ค่ะ
เราต้องเตรียมตัวน้องสุนัขอย่างไรเมื่อจะพาน้องสุนัขไปฉีดวัคซีน

ก่อนฉีดวัคซีนในน้องสุนัข สัตวแพทย์จะทำการตรวจร่างกายน้องก่อนว่าร่างกายน้องแข็งแรงเพียงพอต่อการฉีดวัคซีนไหม น้องไม่ซึมหรือแสดงอาการที่เจ็บป่วยใดๆ เพราะการทำวัคซีนเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีได้อย่างเต็มที่ จะต้องทำเมื่อสุนัขมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย สัตวแพทย์จะไม่ทำการฉีดวัคซีนในสุนัขที่แสดงอาการป่วยใดๆเพราะนอกจากวัคซีนจะไม่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันแล้ว หากฉีดวัคซีนตอนร่างกายไม่สบายอาจทำให้ร่างกายอ่อนแอลงได้ค่ะ นอกจากวัคซีนแล้ว อีกเรื่องที่คุณเจ้าของควรป้องกันให้กับน้องๆ คือการถ่ายพยาธิและการป้องกันเห็บหมัดและปรสิตอื่นๆ ด้วย ดังนี้

1. การถ่ายพยาธิ เริ่มทำได้เมื่อสุนัขอายุ 2 สัปดาห์ขึ้นไป โดยการป้อนยาถ่ายพยาธิตามคำแนะนำสัตวแพทย์เป็นประจำอย่างน้อย 3 เดือนครั้ง
2. การป้องกันพยาธิหนอนหัวใจที่นำโดยยุง ควรเริ่มทำเมื่อน้องอายุ 4 เดือนขึ้นไปหรือตามคำแนะนำของสัตวแพทย์

ผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนในสุนัขมีหรือไม่ 

อาการข้างเคียงของสุนัขที่สามารถพบได้หลังการฉีดวัคซีน คืออาการแพ้วัคซีน โดยอาจพบอาการเหล่านี้ในสุนัขได้ คือ อาการหน้าบวม แดง บางตัวแพ้รุนแรงอาจพบอาการอาเจียนและท้องเสียเป็นเลือดได้ จะเกิดภายใน 24 ชั่วโมง หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพาน้องไปพบสัตวแพทย์ นอกจากนั้นอาการที่เจอได้หลังจากการฉีดวัคซีนคือ อาการซึม อ่อนเพลีย และมีไข้ค่ะ ดังนั้น หลังจากฉีดวัคซีนแล้วสัตวแพทย์มักจะให้นั่งสังเกตุอาการที่โรงพยาบาลก่อนอย่างน้อย 30 นาที – 1 ชั่วโมงแล้วค่อยพาน้องกลับบ้านได้ค่ะ

หลังจากกระตุ้นวัคซีนแล้วเราควรดูแลน้องสุนัขอย่างไร

  • ควรงดอาบน้ำน้องสุนัขอย่างน้อย 7 วัน สังเกตุการกินอาหารและขับถ่ายอย่างต่อเนื่อง หากมีอาการไม่ปกติควรรีบปรึกษาสัตวแพทย์ทันที
  • ลดโอกาสให้ลูกสุนัขสัมผัสเชื้อโรคที่มักจะปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในปีแรกก่อนที่จะกระตุ้นครบตามโปรแกรมวัคซีน (วัคซีนรวม กระตุ้นทั้งหมด 3 เข็มและพิษสุนัขบ้ากระตุ้นทั้งหมด 2 เข็มในปีแรก) เพื่อลดโอกาสการติดโรคก่อนที่ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันอย่างสมบูรณ์ หลังจากกระตุ้นปีแรกครบควรมีการกระตุ้นซ้ำเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้งค่ะ
  • นอกจากเรื่องวัคซีนแล้วควรป้องกันเห็บ หมัด พยาธิหนอนหัวใจ และมีการถ่ายพยาธิอย่างสม่ำเสมอ ตามความเสี่ยงและคำแนะนำของสัตวแพทย์
  • การดูและเรื่องผิวหนัง น้องสุนัขควรมีการอาบน้ำอย่างน้อย 1-2 ครั้ง/เดือน เพื่อป้องกันปัญหาโรคผิวหนัง
  • คุณเข้าของควรศึกษาโรคประจำสายพันธุ์ที่มักจะเกิดขึ้นในสุนัขแต่ละพันธุ์ตามลักษณะโครงสร้างทางกายภาพ เพื่อเป็นการป้องกันโรคที่จะเกิดขึ้นได้ค่ะ เช่น สุนัขพันธุ์ชิวาวาและปอมเมอเรเนียนมักจะมีปัญหาเรื่อง หลอดลมตีบหรือโระสะบ้าเคลื่อน เป็นต้นค่ะ

 

 

เรียบเรียงโดย
สัตวแพทย์หญิงนริสา พลอยแก้ว
ผู้จัดการสัตวแพทย์ โรงพยาบาลสัตว์เมตตา