
ภาวะลมแดด เป็นอาการฉุกเฉินที่เกิดได้ทั้งกับสุนัข แมวและสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ เช่น กระต่าย แฮมสเตอร์ เป็นต้น สัตว์เลี้ยงที่มีอาการของภาวะลมแดดแล้วจะต้องได้รับการรักษาแบบทันที!! เพราะสุนัขและแมวไม่มีต่อมเหงื่อเหมือนกับมนุษย์ ทำให้สุนัขและแมวไม่สามารถทนต่ออุณหภูมิที่สูงได้เท่ากับมนุษย์ สัตว์เลี้ยงจะมีการหายใจเร็ว ไปจนถึงหอบ อ้าปากหายใจเพื่อระบายความร้อน แต่หากอุณหภูมิภายนอกใกล้เคียงกับอุณหภูมิร่างกาย การระบายความร้อนด้วยการหายใจอาจจะไม่ได้ผล จึงทำให้เกิดภาวะลมแดดได้

อาการของสุนัขหรือแมวเมื่อเป็นภาวะลมแดด
- ภาวะลมแดดเริ่มต้นด้วยอาการหายใจเร็วและหายใจลำบาก
- มีไข้สูงหรือมีอาการชัก
- ลิ้นและเยื่อเมือกมีสีแดงสด น้ำลายหนืดและยาว
- สัตว์เลี้ยงมักจะอาเจียน เมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงถึง (40° ถึง 43.3°C)
- สัตว์เลี้ยงเริ่มมีอาการอ่อนแรงและถ่ายอุจจาระที่มีเลือด เมื่อเกิดการช็อก ริมฝีปากและเยื่อเมือกจะกลายเป็นสีม่วงคล้ำ
- มีอาการล้ม ชัก โคม่า และเสียชีวิตอย่างรวดเร็วได้

วีธีการช่วยสุนัขเบื้องต้นเมื่อมีอาการ
- ล้างบริเวรทวารหนักของสัตว์เลี้ยงและทำการระบายความร้อนจนกว่าอุณหภูมิจะลดลง เช่น เช็ดตัวด้วยผ้าสะอาดชุบน้ำอุณหภูมิห้องแล้วเช็ดย้อยขน เมื่อระดับความร้อนลดลงควรเช็ดตัวให้แห้ง
- ในกรณีที่สัตว์เลี้ยงมีขนที่ยาวและหนามากๆในช่วงหน้าร้อน ควรพิจารณาตัดขนของสัตว์เลี้ยงให้สั้น เพื่อการระบายความร้อนได้ดีกว่าในช่วงที่อุณภูมิภายนอกสูงกว่าปกติ
- หลังจากมีการช่วยสัตว์เลี้ยงเบื้องต้นแล้ว ควรรีบพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์โดยเร็วที่สุด ซึ่งภาวะลมแดดอาจทำให้เกิดอาการบวมของกล่องเสียงมีการหายใจที่แย่ลงได้ สัตวแพทย์จะทำการวินิจฉัยและทำการรักษาในขั้นตอนต่อไปค่ะ

สถานการณ์ที่อาจทำให้เกิดภาวะลมแดดในสุนัข ได้แก่
- การทิ้งสัตว์ไว้ในรถที่มีอากาศร้อน
- การออกกำลังกายอย่างหนักในสภาพอากาศร้อนชื้น
- สัตว์สายพันธุ์ที่มีจมูกสั้น เช่น บูลด็อก, พัก, แมวพันธุ์เอ็กโซติก เป็นต้น มักมีโอกาสเกิดโรคสูงกว่าสุนัขพันธุ์อื่นๆ
- สัตว์เลี้ยงที่มีอาการป่วยด้วยโรคหัวใจหรือโรคปอดอาจทำให้หายใจไม่สะดวก
- ถูกขังโดยไม่มีที่หลบแดดและน้ำดื้มในสภาพอากาศร้อน
- สัตว์เลี้ยงที่เคยมีประวัติเป็นโรคลมแดด
ผลข้างเคียงอื่นๆ ของภาวะร่างกายร้อนจัด
- ไตวาย
- มีการไหลออกมาของเลือด
- การเต้นผิดปกติของหัวใจ
- การชัก ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้หลายชั่วโมงหรือหลายวัน
วีธีการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะลมแดด
- สัตว์เลี้ยงที่มีปัญหาทางเดินหายใจไม่ควรอยู่ในสถานที่ที่มีอุณหภูมิสูง หรืออาจมีเครื่องปรับอากาศ , พัดลมในช่วงที่มีอุณหภูมิและความชื้นสูง
- อย่าทิ้งสัตว์เลี้ยงไว้ในรถในขณะที่ปิดกระจกไว้ แม้ว่ารถจะจอดอยู่ในที่ร่ม
- เมื่อมีการเดินทางด้วยรถยนต์ ควรขังใส่สัตว์เลี้ยงในกรงที่มีการระบายอากาศดีมีลวดที่เปิดโล่ง
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในอากาศร้อน
- มีพื้นที่หลบแดด และน้ำเย็นเพียงพอตลอดเวลาสำหรับสุนัขที่อยู่กลางแจ้ง
- จัดเตรียมพื้นที่ที่มีความเย็น ให้สัตว์สำหรับการนอนกลางแจ้ง เช่น พื้นไม้, แผ่นรองนอน, หรือหญ้า.
เรียบเรียงโดย
สัตวแพทย์หญิงนริสา พลอยแก้ว
ผู้จัดการสัตวแพทย์ โรงพยาบาลสัตว์เมตตา
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ