สวัสดีค่ะทุกๆท่าน ผู้เป็นสาวก เป็นทั้งทาสเป็นทุกอย่างให้นายของเรานั้นก็คือน้องแมวนั้นเองนะคะ วันนี้เราก็มีสาระความรู้เกี่ยวกับการกระตุ้นวัคซีนในน้องแมวมาฝากกันค่ะ

น้องแมวต้องทำวัคซีนหรือไม่?

คำตอบก็คือ สัตวแพทย์จะแนะนำให้ทำวัคซีนในน้องแมวค่ะเพื่อเป็นการป้องกันการเกิดโรคต่างๆที่มีการกระตุ้นวัคซีน แล้ววัคซีนมีความสำคัญอย่างไร ทำไมน้องแมวต้องได้รับวัคซีน เรามารู้ไปพร้อมๆกันกันดีกว่าค่ะ

วัคซีน คือสารชนิดหนึ่งที่สร้างจากเชื้อโรคที่ไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ร่วมกับสารละลายวัคซีน ที่ฉีดเข้าไปร่างกายเพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคต่างๆที่ใช้ในการผลิตวัคซีนต่อโรคนั้นๆ โดยวัคซีนจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ วัคซีนเชื้อตาย คือวัคซีนที่ทำจากเชื้อโรคที่ตายแล้วมีสารของเชื้อโรคมาฉีดให้กับน้องแมว อีกแบบคือ วัคซีนเชื้อเป็น คือวัคซีนที่ทำจากเชื้อโรคที่อ่อนแอ เมื่อฉีดเข้าร่างกายน้องแมว ร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันกับโรคนั้นๆ เพราะเมื่อร่างกายน้องแมวได้สัมผัสเชื้อเหล่านั้นในสิ่งแวดล้อม เจ้าภูมิคุ้มกันนี้ก็จะทำหน้าที่ป้องกันการเกิดโรคหรือลดความรุนแรงของโรคได้ดีมากๆ โดยเฉพาะโรคส่วนใหญ่ที่มีในวัคซีน มักจะเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง ที่มักจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของน้องๆ ถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยค่ะ

แล้วเมื่อไหร่ที่เราควรเริ่มกระตุ้นวัคซีนในน้องแมว

น้องแมวแรกเกิดจนถึงช่วงอายุ 2 เดือนจะยังมีภูมิคุ้มกันที่ส่งผ่านจากแม่มาสู่ลูกแมวอยู่ ไม่ว่าจะผ่านทางรกหรือทางนมน้ำเหลือง การจะฉีดวัคซีนในช่วงลูกแมวอายุน้อยกว่า 2 เดือนจึงยังไม่แนะนำ เพราะภูมิคุ้มกันจากแม่ในตัวลูกแมวจะทำลายวัคซีนที่ฉีดเข้าไปได้ ดังนั้น สัตวแพทย์จึงมักจะแนะนำให้เริ่มกระตุ้นวัคซีนในลูกแมวเมื่อน้องมีอายุ 2 เดือนขึ้นไป โดยวัคซีนหลักที่แนะนำทำในแมวจะมี 2 ตัวคือ

1. วัคซีนไข้หัดหวัดแมว หรือวัคซีนรวม โดยวัคซีนหวัดแมวเป็นการกระตุ้นวัคซีนจากเชื้อ ไวรัสเริมในแมว (fHV) และไวรัสคาลิไซในแมว (FCV) โรคหวัดแมวส่งผลการติดเชื้อต่อดวงตา ปาก และทางเดินหายใจ อาการจะเหมือนเป็นหวัดในคน เราจึงเรียกว่าโรคหวัดแมว อาการคือ มีน้พมูกใสจนถึงข้นหนืด สีเขียว ตาอักเสบ มีขี้ตาเยอะ ช่องปากอักเสบ ปากมีกลิ่น ในรายที่เป็นมากๆอาจจะทำให้แมวกินอาหารไม่ได้ ติดเชื้อแทรกซ้อน จนส่งผลต่อชีวิตได้เลยค่ะ
ไวรัสโรคไข้หัดในแมว (FPV) จะทำให้น้องแมวอาเจียนและท้องเสียเป็นเลือด เป็นโรคติดต่อในน้องแมวที่มีความรุนแรงสูงมาก มักจะเกิดในแมวเด็กที่ไม่ได้ทำวัคซีน น้องแมวบางตัวยังไม่ทันได้แสดงอาการก็เสียชีวิตเลยก็มีค่ะ
2. วัคซีนพิษสุนัขบ้า ในประเทศไทยยังเป็นประเทศที่พบโรคพิษสุนัขบ้าอยู่เรื่องๆ ดังนั้นควรกระตุ้นวัคซีนพิษสุนัขบ้าจะดีกว่านะคะ โดยวัคซีนพิษสุนัขบ้าจะเริ่มกระตุ้นเมื่อน้องอายุ 3 เดือนขึ้นไป โดยในปีแรกจะกระตุ้นทั้งหมด 2 เข็ม ห่างกัน 1-3 เดือน หลังจากนั้นกระตุ้นประจำปีปีละ 1 ครั้งตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ค่ะ

วัคซีนทางเลือก ที่ไม่ใช่วัคซีนบังคับเหมือนวัคซีนไข้หัดหวัดแมว และวัคซีนพิษสุนัขบ้า ก็คือ วัคซีนป้องกันไวรัสมะเร็งเม็ดเลือดขาวในแมว (FeLV) โดยไวรัสชนิดนี้จะยับยั้งระบบภูมิคุ้มกันทำให้แมวที่ติดเชื้อมีความเสี่ยงต่อโรคอื่น ๆ สูง มันจะติดในแมวผ่านกานเลีย การสัมผัส การใช้ภาชนะร่วมกัน ซึ่งการจะทำวัคซีนนี้ได้ คุณหมอจะทำการตรวจเลือดน้องก่อนว่าน้องมีเชื้อนี้แล้วหรือยัง หากผลเลือดออกมาไม่พบเชื้อ คุณหมอก็จะทำการกระตุ้นวัคซีนให้ค่ะ

นอกจากนี้ จะยังมีวัคซีนอื่นๆ เช่น วัคซีนเยื่อบุช่องท้องอักเสบ วัคซีนเชื้อรา ที่ไม่ใช่วัคซีนบังคับ และวัคซีนบางตัวก็มีรายงานออกมาว่าแม้จะกระตุ้นวัคซีนไปแล้ว น้องแมวก็ยังป่วยจากโรคนั้นๆได้อยู่ จึงยังไม่เป็นที่นิยมในการกระตุ้นวัคซีนเหล่านั้นกันนักค่ะ

เราต้องเตรียมตัวน้องแมวอย่างไรเมื่อจะพาน้องไปฉีดวัคซีน

ก่อนฉีดวัคซีนในน้องแมว สัตวแพทย์จะทำการตรวจร่างกายน้องก่อนว่าร่างกายน้องแข็งแรงเพียงพอต่อการฉีดวัคซีนไหม โดยที่น้องไม่ซึมหรือแสดงอาการที่เจ็บป่วยใดๆ เพราะการทำวัคซีนเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีได้อย่างเต็มที่ จะต้องทำเมื่อน้องแมวมีสุขภาพที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วย สัตวแพทย์จะไม่ทำการฉีดวัคซีนในน้องที่แสดงอาการป่วยใดๆเพราะนอกจากวัคซีนจะไม่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันแล้ว หากฉีดวัคซีนตอนร่างกายไม่สบายอาจทำให้ร่างกายอ่อนแอลงได้ค่ะ นอกจากวัคซีนแล้วก็ควรถ่ายพยาธิ ป้องกันหมัดและพยาธิหนอนหัวใจกันด้วย ดังนี้ การถ่ายพยาธิ เริ่มทำได้เมื่อน้องแมวมีอายุ 2 สัปดาห์ขึ้นไป โดยการป้อนยาถ่ายพยาธิตามคำแนะนำสัตวแพทย์เป็นประจำอย่างน้อย 3 เดือนครั้ง หรือตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ การป้องกันพยาธิหนอนหัวใจที่นำโดยยุง ควรเริ่มทำเมื่อน้องอายุ 4 เดือนขึ้นไปหรือตามคำแนะนำของสัตวแพทย์

ผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนในแมวมีหรือไม่ 

อาการข้างเคียงของแมวที่สามารถพบได้หลังการฉีดวัคซีน คืออาการแพ้วัคซีน โดยอาจพบอาการเหล่านี้ได้ คือ อาการหน้าบวม แดง บางตัวแพ้รุนแรงอาจพบอาการอาเจียนและท้องเสียเป็นเลือดได้ จะเกิดภายใน 24 ชั่วโมง หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพาน้องไปพบสัตวแพทย์ นอกจากนั้นอาการที่เจอได้หลังจากการฉีดวัคซีนคือ อาการซึม อ่อนเพลีย และมีไข้ค่ะ ดังนั้น หลังจากฉีดวัคซีนแล้วสัตวแพทย์มักจะให้นั่งสังเกตุอาการที่โรงพยาบาลก่อนอย่างน้อย 30 นาที – 1 ชั่วโมงแล้วค่อยพาน้องกลับบ้านได้ค่ะ

หลังจากกระตุ้นวัคซีนแล้วเราควรดูแลน้องแมวอย่างไร

ควรงดอาบน้ำน้องแมวอย่างน้อย 7 วัน สังเกตุการกินอาหารและขับถ่ายอย่างต่อเนื่อง หากมีอาการไม่ปกติควรรีบปรึกษาสัตวแพทย์ทันที
ลดโอกาสให้น้องแมวสัมผัสเชื้อโรคที่มักจะปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในปีแรกก่อนที่จะกระตุ้นครบตามโปรแกรมวัคซีน (วัคซีนรวม กระตุ้นทั้งหมด 3 เข็มและพิษสุนัขบ้ากระตุ้นทั้งหมด 2 เข็มในปีแรก) เพื่อลดโอกาสการติดโรคก่อนที่ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันอย่างสมบูรณ์ หลังจากกระตุ้นปีแรกครบควรมีการกระตุ้นซ้ำเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้งค่ะ

นอกจากเรื่องวัคซีนแล้วควรป้องกันเห็บ หมัด พยาธิหนอนหัวใจ และมีการถ่ายพยาธิอย่างสม่ำเสมอ ตามความเสี่ยงและคำแนะนำของสัตวแพทย์
การดูและเรื่องผิวหนัง น้องแมวจะมีการเลียขนแต่งตัวตัวเองได้ดี แต่คุณเจ้าของควรสังเกตุสุขภาพขน ผิวหนัง ตาอย่างสม่ำเสมอ หรืออาบน้ำอย่างน้อย 1-2 ครั้ง/เดือนในน้องแมวที่ไม่แสดงอาการเครียด หรือกลัวมากๆจากการอาบน้ำ เพื่อป้องกันปัญหาโรคผิวหนังที่อาจจะเกิดขึ้นได้
คุณเจ้าของควรศึกษาโรคประจำสายพันธุ์ที่มักจะเกิดขึ้นในน้องแมวแต่ละพันธุ์ตามลักษณะโครงสร้างทางกายภาพ เพื่อเป็นการป้องกันโรคที่จะเกิดขึ้นได้ค่ะ เช่น
โรคหัวใจที่มักเกิดในแมวพันธุ์ American Shorthair และแมวพันธุ์เมนคูน ที่มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจ Hypertrophic Cadiomyopathy (HCM) ได้ง่าย โดยโรคนี้เป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวขึ้น ซึ่งหากเป็นรุนแรงแล้วอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวและทำให้แมวเสียชีวิตได้
โรคไต Polycystic Kidney Diseaseโรคนี้ถือว่าเป็นปัญหาสุขภาพหลักของแมวเปอร์เซียเลยทีเดียว โดยจะเกิดตุ่ม Cyst โตขึ้นที่ไตและเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะไตวายตามมา แมวที่เป็นโรคนี้สังเกตได้จากการที่เริ่มกินน้ำมากผิดปกติ และโรคนี้เป็นความผิดปกติที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เป็นต้น

เรียบเรียงโดย
สัตวแพทย์หญิงนริสา พลอยแก้ว
ผู้จัดการสัตวแพทย์ โรงพยาบาลสัตว์เมตตา